การดำเนินงานของสภาแห่งชาติ ของ สภาแห่งชาติ (ประเทศลาว)

การประชุมของสภาแห่งชาติ

สภาแห่งชาติมีการประชุม 4 ประเภท[18] ดังนี้

  1. การประชุมปฐมฤกษ์
  2. การประชุมสมัยสามัญ
  3. การประชุมสมัยวิสามัญ
  4. การประชุมสมัยพิเศษ[19]

การประชุมปฐมฤกษ์ คือ การประชุมครั้งแรกของสภาแห่งชาติชุดใหม่ จะมีขึ้นไม่เกิน 60 วัน หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติชุดนั้น ประธานสภาแห่งชาติชุดเดิมจะทำหน้าที่ประธานการประชุมปฐมฤกษ์จนกว่าจะได้เลือกตั้งประธานสภาแห่งชาติชุดใหม่

ที่ประชุมปฐมฤกษ์มีภารกิจ[20] ดังนี้

  1. รับรองรายงานของประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้ง และสมาชิกภาพของสมาชิกสภาแห่งชาติชุดใหม่
  2. แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาแห่งชาติ กรรมการคณะประจำสภาแห่งชาติ หัวหน้า รองหัวหน้าและกรรมาธิการประจำคณะกรรมาธิการ หัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติ และผู้แทนประจำคณะรัฐสภาระหว่างประเทศของสภาแห่งชาติ
  3. แต่งตั้งประธานและรองประธานประเทศ กำหนดองค์คณะของรัฐบาล แต่งตั้ง โยกย้าย หรือถอดถอนสมาชิกคณะรัฐบาล
  4. แต่งตั้งประธานศาลประชาชนสูงสุดและอัยการประชาชนสูงสุด[21]
  5. พิจารณาและรับรองโครงการดำเนินงานของสภาแห่งชาติ

สภาแห่งชาติเปิด การประชุมสมัยสามัญ ปีละ 2 ครั้ง โดยมีคณะประจำสภาแห่งชาติเป็นผู้เรียกประชุม[22]ครั้งที่ 1 มีขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และครั้งที่ 2 ระหว่างเดือนกันยายน หนึ่งสมัยประชุมของสภาแห่งชาติมีระยะเวลาประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ โดยมีการกำหนดวาระที่ชัดเจนก่อนจะเริ่มการประชุมแล้วการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 1 พิจารณากฎหมาย ข้อตัดสินใจหรือปัญหาทั่วไปของสภาแห่งชาติ ส่วนการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 2 นั้น มีหน้าที่รับฟังคำนำเสนอและพิจารณาบทรายงาน (ผลการปฏิบัติงาน) ประจำปีของรัฐบาล พิจารณารับรองแผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคมและแผนงบประมาณแห่งรัฐ รับฟังคำนำเสนอและพิจารณาบทรายงาน (ผลการปฏิบัติงาน) ประจำปีของประธานศาลประชาชนสูงสุดและอัยการประชาชนสูงสุดนอกจากนี้ อาจพิจารณากฎหมาย ข้อตัดสินใจ หรือปัญหาสำคัญอื่นเพิ่มเติมได้สภาแห่งชาติอาจเปิด การประชุมสมัยวิสามัญ หรือ การประชุมสมัยพิเศษ ได้ ตามมติของคณะประจำสภาแห่งชาติโดยการเสนอของประธานประเทศหรือนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาแห่งชาติจำนวน 1 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมดการประชุมสมัยวิสามัญ ของสภาแห่งชาติเปิดขึ้นในระหว่างที่มิได้มีการประชุมสมัยสามัญ เพื่อพิจารณาตัดสินและรับรองปัญหาที่มีความจำเป็นการประชุมสมัยพิเศษ ของสภาแห่งชาติอาจเปิดขึ้นเพื่อพิจารณาตัดสินและรับรองปัญหาเฉพาะหน้าหรือปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญของประเทศการประชุมของสภาแห่งชาติให้ดำเนินงานอย่างเปิดเผย โดยในกรณีจำเป็นคณะประจำสภาแห่งชาติจะตกลงให้ประชุมลับตามการเสนอของประธานประเทศหรือนายกรัฐมนตรีก็ได้การประชุมของสภาแห่งชาติจะเปิดประชุมได้ก็ต่อเมื่อมีสมาชิกเข้าร่วมการประชุมมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด และมติของที่ประชุมสภาแห่งชาติจะบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุม (เว้นแต่กรณีที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 54, 66 และ 97 ของรัฐธรรมนูญ)[23]

แผน โครงการ และการดำเนินงานของสภาแห่งชาติ

การดำเนินงานของในสภาแห่งชาติแต่ละชุดนั้นจะเป็นไปตามแผนการปฏิบัติงาน 5 ปี และแผนปฏิบัติงานประจำปีของสภาแห่งชาติองค์ประกอบของแผนการปฏิบัติงาน 5 ปี และแผนปฏิบัติงานประจำปี นั้น มีองค์ประกอบเนื้อหาด้านต่าง ๆ อาทิ การตราหรือการปรับปรุงกฎหมาย การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและองค์กร ความสัมพันธ์กับรัฐสภาต่างประเทศและองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ นโยบายและแผนหรือ ทิศทางการดำเนินงาน การบริหารและการเงิน ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ ซึ่งแผนการปฏิบัติงาน 5 ปีนี้ จะได้มีการจัดทำร่างขึ้นก่อนที่สภาแห่งชาติชุดเดิมจะหมดวาระ และรับรองในที่ประชุมการประชุมปฐมฤกษ์ของสภาแห่งชาติชุดใหม่ซึ่งถือเป็นการส่งต่อและส่งมอบงานที่เป็นระบบ ถ่ายทอดและสืบทอดงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งจากแผนการปฏิบัติงาน 5 ปี ข้างต้น คณะประจำสภาแห่งชาติจะเป็นผู้ “ผันขยาย” (ปรับ) แผนปฏิบัติงาน 5 ปี ไปสู่แผนการปฏิบัติงานประจำปี ซึ่งในด้านกฎหมาย (รวมทั้งด้านอื่นด้วยนั้น) จะมีวาระว่าแต่ละปีนั้นจะมีกฎหมายใดเข้าสู่การพิจารณาของสภาแห่งชาติบ้างซึ่งแผนการทั้ง 2 ระดับนั้น คือ ทั้งแผนปฏิบัติงาน 5 ปี และแผนการปฏิบัติงานประจำปี จะจัดทำขึ้นโดย

  1. ตามความต้องการและนโยบายการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ของรัฐบาล ศาลประชาชน องค์การอัยการ ประชาชน และสภาแห่งชาติ
  2. ตามรัฐธรรมนูญ และ
  3. ตามหลักกฎหมายสากล

เฉพาะในด้านการตรากฎหมายนั้น ให้พิจารณาตามแผนการปฏิบัติงานประจำปี โดยองค์การและบุคคลผู้มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายจะได้ค้นคว้าข้อมูลประกอบพร้อมกับจัดทำร่างกฎหมายเสนอต่อสภาแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้รวบรวมความเห็นเสนอ (ปกติร่างกฎหมายที่จะผ่านที่ประชุมสภาแห่งชาติชุดนั้น จะต้องเสนอความเห็นผ่านที่ประชุมปฐมฤกษ์ของสภาแห่งชาติชุดนั้นก่อนเท่านั้น ดังนั้น ขั้นรับร่างกฎหมายตามกระบวนการพิจารณากฎหมายไทย จึงอาจนับว่าเริ่มมีขึ้นตั้งแต่การประชุมปฐมฤกษ์ของสภาแห่งชาติชุดนั้น)

การตรากฎหมาย

ลำดับขั้นหรือศักดิ์ของกฎหมายของ สปป.ลาว นั้น ประกอบด้วย ดังนี้

  1. รัฐธรรมนูญ (Constitution)
  2. “กฎหมาย” (Law)
  3. รัฐบัญญัติ (Decree) (เทียบเท่ากับ พระราชกำหนด ลาวเรียก “กฎหมายน้อย”)
  4. รัฐดำรัส (หรือดำรัสประธานประเทศ) (Presidential Edict) (กฎหมายซึ่งประกาศบังคับใช้โดยประธานประเทศ และนายกรัฐมนตรี โดยมิต้องผ่านการพิจารณาของสภาแห่งชาติ ศักดิ์ของกฎหมายเทียบเท่ากับ พระราชกฤษฎีกา[24]) ซึ่งการศึกษานี้จะกล่าวถึงเฉพาะ “กฎหมาย” เท่านั้น เนื่องจากกระบวนการตราและการบังคับใช้ “กฎหมาย” เป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายหลักของลาว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับระบบกฎหมายของไทยแล้ว “กฎหมาย” นี้ อาจเทียบกับศักดิ์กฎหมายได้กับ “พระราชบัญญัติ

ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย สปป.ลาว องค์การจัดตั้งและบุคคลที่มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้สภาแห่งชาติพิจารณา[25] มีดังนี้

  1. ประธานประเทศ
  2. คณะประจำสภาแห่งชาติ
  3. รัฐบาล
  4. ศาลประชาชนสูงสุด
  5. องค์การอัยการประชาชนสูงสุด และ
  6. แนวลาวสร้างชาติหรือองค์การจัดตั้งมหาชนขั้นศูนย์กลางอื่น (ศูนย์กลางชาวหนุ่มลาวสหพันธ์กรรมบาลลาว ศูนย์กลางสหพันธ์แม่หญิงลาว)

งานระบบกฎหมายและการออกกฎหมายของ สปป.ลาว นั้น แบ่งพิจารณาได้เป็น 2 ด้านหลัก ซึ่งหลักการนี้ได้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและให้ความสำคัญมากเท่า ๆ กันทั้ง 2 ด้าน และเป็นหลักการที่ประเทศซึ่งปกครองตามระบอบประชาธิปไตยประชาชนหรือสังคมนิยม - คอมมิวนิสต์ถือปฏิบัติ แบ่งได้ดังนี้

  1. การตราและปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย
  2. งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่การบังคับใช้กฎหมาย

การตราและปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย

กระบวนการตราและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายจะดำเนินการตามแผนการปฏิบัติงาน 5 ปี ของสภาแห่งชาติ ซึ่งจะกำหนดว่าจะมีการตราหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใดบ้าง ทั้งในรอบ 5 ปี ซึ่งครบตามวาระของสภาแห่งชาติชุดนั้นและโครงการในแต่ละปีเมื่อจะมีการพิจารณาเสนอกฎหมายใด รัฐบาลโดยหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายนั้นหรือหน่วยงาน (เจ้าของ) ผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นจะมีการประสานงานรวบรวมความเห็นและข้อมูลเพื่อประกอบความเห็นต่อร่างกฎหมายนั้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันจัดทำร่างกฎหมายนั้นขึ้น เมื่อได้จัดทำร่างกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเสนอกระทรวงยุติธรรมเพื่อพิจารณารับรอง แล้วจึงเสนอต่อรัฐบาล เมื่อคณะรัฐบาลลงมติรับรองแล้วจึงเสนอต่อสภาแห่งชาติก่อนที่สมัยประชุมสภาแห่งชาติจะเปิดขึ้นไม่น้อยกว่า 60 วันต่อไป

เมื่อสภาแห่งชาติรับร่างกฎหมายไว้พิจารณาแล้ว สภาแห่งชาติจะมอบหมายให้คณะกรรมาธิการกฎหมายและคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องพิจารณาร่วมกันเพื่อทำความเห็น ตลอดจนตรวจสอบข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อ “การประชุมเปิดกว้าง” (เป็นการประชุมที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจน ตัวแทนประชาชน รวมทั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ และส่วนท้องถิ่น สามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ในที่ประชุมได้ ซึ่งประเด็นในที่ประชุมเปิดกว้างนั้นก็เป็นประเด็นเปิดกว้างที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและการบริหารงานภาพรวมทั้งหมดของชาติด้วย) เพื่อนำความเห็นมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมาย เมื่อปรับปรุงแล้วจึงเสนอให้คณะประจำสภาแห่งชาติอนุมัติ กรณีเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ (ได้เสีย) ของประชาชนหรือผลประโยชน์แห่งชาติก่อนเสนอเพื่อให้คณะประจำสภาแห่งชาติพิจารณาอนุมัติ ต้องมีการขอความเห็นหรือ “ประชาพิจารณ์” จากประชาชนก่อนด้วย (กระบวนการเสนอความเห็นและประชาพิจารณ์กฎหมายลาวนั้น เรียกว่า “การทาบทาม”กระบวนการนี้ สมาชิกสภาแห่งชาติจะลงพื้นที่เพื่อขอความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ตามแขวงต่าง ๆ แล้วสรุปความเห็นที่เกี่ยวข้องเสนอต่อคณะกรรมาธิการกฎหมายและคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อนำมาปรับปรุงอีกครั้งตามความเหมาะสม เมื่อปรับร่างกฎหมายแล้วจึงเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะประจำสภาแห่งชาติ)

เมื่อคณะประจำสภาแห่งชาติเห็นเหมาะสมแล้วจึงเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาแห่งชาติ ถ้าคณะประจำสภาแห่งชาติเห็นว่ายังไม่ครบถ้วนเพียงพออาจเสนอให้คณะกรรมาธิการกฎหมายและคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลเพื่อปรับปรุงให้ครบถ้วนสมบูรณ์และเสนอใหม่อีกครั้งได้

ขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายในการประชุมสภาแห่งชาตินั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบนำเสนอร่างกฎหมายร่วมกับคณะกรรมาธิการกฎหมายและคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐมนตรีทำหน้าที่เสนอจุดประสงค์ของกฎหมายต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติ กรรมาธิการผู้รับผิดชอบร่างกฎหมายนั้นนำเข้าสู่การพิจารณารายมาตรา (อ่านและพิจารณาเรียงตามรายมาตรา) ถ้ามีข้อคิดเห็นหรือมีการขอแปรญัตติเพิ่มเติมให้ประธานสภาแห่งชาติหรือสมาชิกเสนอต่อที่ประชุม คณะกรรมาธิการกฎหมายและคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ชี้แจง กรณีกฎหมายใดพิจารณาได้ง่าย คือ ไม่ซับซ้อนหรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอาจผ่านความเห็นหรือขอมติเป็นรายหมวดหรือรายภาค ถ้ากฎหมายฉบับใดยากหรือซับซ้อนหรือเกี่ยวข้องกับสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน อาจพิจารณาผ่านความเห็นหรือขอมติเป็นรายมาตราการลงคะแนนเสียงให้ลงคะแนนเสียงแบบปิดลับ (ลงคะแนนเสียงโดยลับ) การผ่านความเห็นหรือมติจะมีผลบังคับใช้เมื่อได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมเมื่อกฎหมายนั้นได้รับมติเห็นชอบจากสภาแห่งชาติแล้ว ให้คณะกรรมาธิการกฎหมายปรับปรุงตามความเห็นและคำนำเสนอ แล้วนำกลับเข้าที่ประชุมสภาแห่งชาติอีกครั้งในวันสุดท้ายของสมัยการประชุมนั้นเพื่อรับรองให้ประกาศบังคับใช้ต่อไป

งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่กฎหมาย

เมื่อกฎหมายใดได้รับการลงมติบังคับใช้จากสภาแห่งชาติแล้ว กระทรวงผู้รับผิดชอบบังคับใช้กฎหมายจะต้องเสนอให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายนั้นต่อหน่วยงานขึ้นตรงและเกี่ยวข้องของตนก่อนจากตั้งแต่ส่วนกลางถึงท้องถิ่น ซึ่งเป็นการให้ความรู้เพื่อการบังคับใช้กฎหมายและปฏิบัติงานได้

กระบวนการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่กฎหมายนั้นมีความหลากหลายนับแต่การประชาสัมพันธ์และโฆษณาทางสื่อ ตลอดจน การจัดทำเอกสารทางวิชาการ อาทิ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เอกสาร หนังสือ นอกจากนี้ อาจมีการจัดสอนในชั้นเรียนหรือสัมมนาตามสถาบันการศึกษาด้วย กฎหมายบางฉบับอาจจะจัดเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนภาคบังคับด้วย ซึ่งทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสำคัญของกฎหมายนั้นเป้าหมายของงานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่กฎหมาย คือ จะเร่งให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายนั้นก่อน จึงขยายสู่กลุ่มพนักงาน (ข้าราชการ) ทั่วไป และสู่ภาคประชาชน เป็นการกระจายสู่ทุกระดับตั้งแต่จากศูนย์กลางสู่ท้องถิ่นตามลำดับ

ในการพิจารณาร่างกฎหมายและร่างรัฐบัญญัติ สภาแห่งชาติจะแต่งตั้งกรรมาธิการเพื่อจัดทำความเห็นเสนอต่อคณะประจำสภาแห่งชาติและประธานประเทศ[26] นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการแต่ละคณะยังมีหน้าที่สนับสนุนสภาแห่งชาติและคณะประจำสภาแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามอำนาจในการตรวจสอบการดำเนินงานของคณะรัฐบาล ศาลประชาชน และองค์การอัยการประชาชน อันจะเป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อสนับสนุนการจัดทำร่างกฎหมายในอนาคตด้วย (รายละเอียดเกี่ยวกับคณะกรรมาธิการโปรดพิจารณาตามหัวข้อ “คณะกรรมาธิการของสภาแห่งชาติ” หน้า 28 - 29) กฎหมายที่สภาแห่งชาติได้รับรองแล้วนั้นประธานประเทศต้องประกาศบังคับใช้ภายในไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรอง

ในระยะเวลาดังกล่าวนั้น ประธานประเทศมีสิทธิเสนอกลับคืนให้สภาแห่งชาติพิจารณาใหม่ได้ กฎหมายที่พิจารณาใหม่นั้น ถ้าหากสภาแห่งชาติมีมติยืนยันตามเดิมแล้ว ประธานประเทศต้องประกาศใช้ภายในกำหนดสิบห้าวัน[27]โดยปกติ 1 ปี สภาแห่งชาติจะผ่านกฎหมายประมาณ 12 ฉบับ (มากสุดอาจถึง 14 ฉบับ) สมัยประชุมละประมาณ 6 - 7 ฉบับ

ญัตติ

“ญัตติ[28]” หรือข้อพิจารณา ในภาษาลาวหรือตามกฎหมายของลาวนั้น เรียกว่า “บันหา” หรือ “ปัญหา” “บันหา” คือ ข้อเสนอที่มีความมุ่งหมายเพื่อให้สภาแห่งชาติลงมติหรือวินิจฉัยว่าจะปฏิบัติอย่างไร ซึ่งการเสนอเรื่องหรือข้อพิจารณาเพื่อให้ที่ประชุมสภาแห่งชาติพิจารณานั้นจะต้องเสนอเป็น “ญัตติ” หรือ “บันหา” “บันหา” จึงเป็นกลไกหนึ่งในการดำเนินงานของสภาแห่งชาติ เพราะ “บันหา” ทุกเรื่องย่อมมีจุดมุ่งหมาย อันทำให้รู้ถึงประโยชน์หรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น “บันหา” จึงมีความสำคัญต่อการดำเนินงานของสภาแห่งชาติ 3 ประการ ดังนี้

  1. เป็นกลไกในการตรากฎหมาย
  2. เป็นกลไกในการควบคุมการบริหาร
  3. เป็นกลไกในการประชุมสภา

โดยทั่วไปลักษณะการเสนอ “บันหา” แบ่งออก 2 ประเภท คือ 1. “บันหา” ที่เสนอด้วยวาจา และ 2. “บันหา” ที่เสนอเป็นหนังสือ

“บันหา” ที่เสนอโดยถูกต้องแล้วประธานสภาแห่งชาติจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมตามกระบวนการพิจารณา กระบวนการพิจารณา “บันหา” มี 3 ขั้นตอน คือ 1. การอภิปราย 2. การแปร “ญัตติ” หรือการอภิปราย “บันหา”และ 3. การลงมติ “บันหา” หรือ “ญัตติ” หรือข้อตัดสินใจที่เกี่ยวกับ “ชะตากรรม” ของชาติและผลประโยชน์อันสำคัญของประชาชนต้องผ่านการพิจารณาของสภาแห่งชาติหรือคณะประจำสภาแห่งชาติกรณีสภาแห่งชาติมิได้เปิดการประชุม[29] เท่านั้น

กระทู้ถาม

การทู้ถาม[30] คือ คำถามที่สมาชิกสภาแห่งชาติตั้งเพื่อถามนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐบาล (รัฐมนตรีและหัวหน้าองค์กรเทียบเท่ากระทรวง) ประธานศาลประชาชนสูงสุด และอัยการประชาชนสูงสุด ในเรื่องอันเกี่ยวกับงานในหน้าที่หรือนโยบายการบริหารงาน

สมาชิกสภาแห่งชาติมีสิทธิตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐบาล ประธานศาลประชาชนสูงสุด และอัยการประชาชนสูงสุด บุคคลที่ถูกซักถามนั้น ต้องชี้แจงต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร[31]แต่นายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐบาล ประธานศาลประชาชนสูงสุด อัยการประชาชนสูงสุด หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมีสิทธิที่จะยังไม่ตอบกระทู้นั้นก็ได้ ถ้าผู้เกี่ยวข้องนั้นเห็นว่าเรื่องหรือกรณีนั้นยังไม่ควรเปิดเผย เพราะอาจเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของประเทศกระทู้ถามที่สมาชิกตั้งถามนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐบาล ประธานศาลประชาชนสูงสุด และอัยการประชาชนสูงสุด มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

  1. คำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐบาล ประธานศาลประชาชนสูงสุด และอัยการประชาชนสูงสุด ซึ่งส่วนใหญ่จะถามเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบนั้น
  2. คำถามเกี่ยวกับนโยบายการบริหารของนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐบาล ประธานศาลประชาชนสูงสุด และอัยการประชาชนสูงสุด ซึ่งเป็นคำถามที่สมาชิกสภาแห่งชาติตั้งขึ้น เมื่อเห็นว่าการบริหารงานแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐบาล ประธานศาลประชาชนสูงสุด และอัยการประชาชนสูงสุด ไม่เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภาแห่งชาติ หรือดำเนินการบริหารงานผิดพลาดไม่ตรงตามนโยบาย

กระทู้ถามนับเป็นวิธีการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญอย่างหนึ่งของสภาแห่งชาติ เพราะทำให้ฝ่ายปฏิบัติงานมีความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดียิ่งขึ้น มิฉะนั้น อาจถูกสมาชิกสภาแห่งชาติตั้งกระทู้ถามอันแสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดหรือบกพร่องในการปฏิบัติงานได้กระทู้ถามมี 2 ประเภท คือ 1. กระทู้ถามสด และ 2. กระทู้ถามทั่วไป

การเปิดอภิปรายทั่วไป

การเปิดอภิปราย[32]ทั่วไปเป็นมาตรการควบคุมการบริหารงานวิธีหนึ่ง ซึ่งถือเป็นมาตรการที่สำคัญและมีประสิทธิภาพมาก เพราะสามารถเป็นเครื่องมือเหนี่ยวรั้ง ถ่วงดุลอำนาจ และควบคุมการบริหารงานของฝ่ายต่าง ๆ จากสภาแห่งชาติให้อยู่ในภาวะสมดุลได้ดีที่สุด แม้สภาแห่งชาติจะมิได้มีการใช้มาตรการการเปิดอภิปรายทั่วไปนี้มากนัก (ตามสถิติสภาแห่งชาติลาวเปิดอภิปรายทั่วไปทั้งกรณีการลงมติและไม่ลงมติน้อยมาก ระบอบการปกครองของลาว คือ ระบอบประชาธิปไตยประชาชนหรือ “สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์” นั้น เป็นระบบที่เน้นทั้ง “พรรค” และ “รัฐ” “พรรค-รัฐ” ควบคู่และเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นมักแก้ปัญหากันเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ภายใน “พรรค” แล้ว ซึ่งถือเป็น “หลังฉาก” ขณะที่ระดับ “รัฐ” หรือ “หน้าฉาก” นั้น การบริหารงานมักเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย “ใสสะอาด” และปราศจากความขัดแย้ง)

ลักษณะของการอภิปรายทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยมีการลงมติ และ 2. การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติกรณีการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยมีการลงมตินั้น รัฐบาลหรือสมาชิกคณะรัฐบาลอาจถูกสภาแห่งชาติ “พิจารณา”และ “ลงมติ” ไม่ไว้วางใจได้ตามการเสนอของคณะประจำสภาแห่งชาติหรือสมาชิกสภาแห่งชาติอย่างน้อยหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในระยะเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงหลังจากที่สภาแห่งชาติได้ลงมติไม่ไว้วางใจ ประธานประเทศมีสิทธิเสนอให้สภาแห่งชาติพิจารณาใหม่การพิจารณาครั้งที่สองต้องห่างจากการพิจารณาครั้งที่หนึ่งสี่สิบแปดชั่วโมง ถ้าการลงมติครั้งใหม่ไม่ได้รับความไว้วางใจ รัฐบาลหรือสมาชิกคณะรัฐบาลผู้นั้นต้องลาออก[33]

ใกล้เคียง

สภาแห่งชาติ (ประเทศลาว) สภาแห่งชาติเพื่อการคุ้มกันบ้านเกิดเมืองนอน สภาแห่งชาติ (ออสเตรีย) สภาแห่งชาติเพื่อการฟื้นฟูติมอร์ สภาแห่งชาติแห่งสหภาพพม่า สภาแห่งชาติลิเบีย สภาแห่งชาติกัมพูชา สภาแห่งชาติโซมี

แหล่งที่มา

WikiPedia: สภาแห่งชาติ (ประเทศลาว) http://confinder.richmond.edu/admin/docs/laos.pdf http://www.na.gov.la http://www.na.gov.la/lao/chucnang.htm http://www.na.gov.la/lao/lichsu.htm http://www.ipu.org/parline-e/reports/2175_E.htm http://www.undplao.org/whatwedo/demogov.php https://books.google.com/books?id=9x0OEAAAQBAJ&pg=... https://web.archive.org/web/20080730233845/http://... https://en.vietnamplus.vn/vietnam-steps-up-lao-nat...